กฎหมายความปลอดภัย

ไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน กับโคมไฟฟ้าป้ายทางออก เป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกอาคารต้องติดตั้ง เผื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ ไฟดับ ผู้อยู่ในอาคารจะได้อพยพหนีภัยออกจากอาคารได้อย่างปลอดภัย

แต่ยังมีอาคารอีกจำนวนมากที่ไม่มีการติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน และโคมไฟฟ้าป้ายทางออก เพื่อความปลอดภัยของชีวิตผู้มาใช้บริการอาคาร แม้จะมีกฎหมายบังคับก็ตามกิตติ สุขุตมตันติ เลขานุการคณะกรรมการมาตรฐานการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เผยว่า “วสท. ได้ร่วมกับ สมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร และ สมาคมช่างเหมาไฟฟ้าและเครื่องกลไทย ในการจัดทำมาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟฟ้าป้ายทางออก ที่เรียกรหัสย่อว่ามาตรฐาน วสท. 2004 โดยจัดทำแล้วเสร็จ และเริ่มใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544”

มาตรฐาน วสท. 2004 มาตรฐานระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟฟ้าป้ายทางออก กำหนดให้หากเกิดกรณีไฟดับแล้วอาคารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน สำนักงาน ศูนย์การค้า โรงแรม โรงพยาบาล โรงเรียน สถานบันเทิง ร้านอาหาร คอนโดฯ ต้องติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินที่ให้ระดับความส่องสว่างที่พื้นกึ่งกลางทางหนีไฟไม่น้อยกว่า 1 ลักซ์

เพื่อให้ผู้อยู่ในอาคารสามารถอพยพหนีภัยออกจากอาคารได้อย่างปลอดภัยหากเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ ไฟดับ ซึ่งเป็นความปลอดภัยขั้นต่ำของอาคารตามกฎหมาย (กฎหมายปัจจุบัน เช่น กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ. 2555)

และยังได้กำหนดให้ต้องติดตั้งโคมไฟฟ้าป้ายทางออกที่เหนือประตูทางออก และตลอดเส้นทางหนีไฟ โดยใช้รูปสัญลักษณ์คนก้าวขาผ่านประตูพร้อมกับลูกศร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รูปภาพตามมาตรฐานสากล ISO อันจะเป็นสัญลักษณ์ที่คนทุกชาติ ทุกภาษาเห็นรูปภาพแล้วจะเข้าใจได้ตรงกันว่านี่คือป้ายบอกทางออก หรือบางคนเรียกว่า ป้ายบอกทางหนีไฟ

โดยมาตรฐานกำหนดการติดตั้งโคมไฟฟ้าป้ายทางออก ที่เส้นทางเดินหรือเส้นทางหนีไฟ ไว้ว่า หากสัญลักษณ์รูปภาพใหญ่ขนาดสูง 10 ซม. ก็ต้องติดตั้งโคมไฟป้ายทางออกตามทางหนีไฟทุกระยะไม่เกิน 24 เมตร แต่หากระยะห่างไกลเกินกว่านั้นก็สามารถเลือกใช้โคมไฟฟ้าป้ายทางออกที่มีขนาดรูปภาพใหญ่ขึ้นเป็น 15 ซม. สำหรับระยะห่างได้ถึง 36 เมตร หรือ เลือกใช้สัญลักษณ์ใหญ่ 20 ซม. ก็สามารถติดระยะห่างได้ถึง 48 เมตร เป็นต้น

วิธีการสังเกตว่าอาคารที่เราเข้าไปใช้ มีความปลอดภัยของระบบป้องกันอัคคีภัยที่ดีหรือไม่ สามารถสังเกตได้อย่างง่าย คือ อาคารนั้นควรมีการติดตั้งโคมไฟฟ้าป้ายทางออกที่เหนือประตูทางออก และ ควรมีโคมไฟฟ้าป้ายทางออกที่มองเห็นได้ในระยะไม่เกิน 24 เมตรจากจุดที่เราอยู่ และโคมไฟฟ้าป้ายทางออกต้องส่องสว่างตลอดเวลาที่มีคนใช้งานอยู่ในอาคาร แต่ถ้าหากจากจุดที่เรายืนอยู่ เหลียวซ้ายแลขวา มองรอบตัว

แล้วยังมองไม่เห็นโคมไฟฟ้าป้ายทางออกในระยะ 24 เมตรแล้ว ก็สันนิษฐานในเบื้องต้นได้เลยว่า อาคารดังกล่าวมีระบบป้องกันอัคคีภัยไม่ได้ตามมาตรฐาน และผู้ใช้อาคารก็จะมีความเสี่ยงภัยต่อชีวิตหากเข้าไปใช้บริการหรือทำงานในอาคารดังกล่าว เพราะถ้าหากเกิดไฟไหม้ ไฟดับแล้ว เขาจะไม่รู้เลยว่าควรจะออกจากอาคารได้ด้วยเส้นทางใด

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ก็ได้จัดทำมาตรฐาน มอก. ของผลิตภัณฑ์โคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉินและโคมไฟฟ้าป้ายทางออกเช่นกัน ดังนั้น การเลือกซื้อโคมไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน ก็ควรเป็นโคมไฟฟ้าที่มีคุณภาพ ผ่านมาตรฐาน มอก. 1102-2538 โคมไฟฟ้าฉุกเฉินชุดเบ็ดเสร็จ

ส่วนการเลือกซื้อโคมไฟฟ้าป้ายบอกทางหนีไฟที่ดี ก็ควรได้มาตรฐาน มอก. 2430-2552 โคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉินชนิดส่องสว่างจากภายในสำหรับอาคาร และการติดตั้งก็ควรต้องได้ตามมาตรฐาน มอก. 2539-2554 มาตรฐานการติดตั้งโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉินชนิดส่องสว่างจากภายในสำหรับอาคาร

ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ www.eit.or.th หรือ สมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย www.TIEAThai.org

ขอขอบพระคุณเนื่อหาดีๆจาก ทีมเดลินิวส์ 38

Visitors: 6,588,638